Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
Financial Planning: เพิ่มโอกาสลงทุนกับ USD FUTURES
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทางตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ก็ได้ฤกษ์เปิดให้เริ่มซื้อขายสัญญาซื้อขายดอลลาร์สหรัฐฯ ล่วงหน้า (USD Futures) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างกำไรจากการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินบาท และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับผู้ส่งออกหรือนำเข้าได้อีกด้วย เรามาทำความรู้จักกับสัญญา USD Futures และเทคนิคในการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรและจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกันดังนี้ค่ะ
รู้จักกับสัญญา USD FUTURES

สัญญาซื้อขายดอลลาร์สหรัฐฯ ล่วงหน้า (USD Futures) คือสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อตกลงกันว่า จะซื้อหรือขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯล่วงหน้าในเวลาที่กำหนด โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด ณ วันที่ทำสัญญา ผู้ที่ซื้อหรือขาย USD Futures จึงสามารถกำหนดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตนเองจะซื้อหรือขายในอนาคตได้ โดยขนาดของ สัญญา USD Futures อยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้อดีของการซื้อขายสัญญา USD Futures คือใช้เงินลงทุนเริ่มต้นน้อย ผู้ลงทุนสามารถวางเงินเพื่อซื้อขายเท่ากับหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 380 บาทต่อสัญญา (ข้อมูล ณ 22 มิถุนายน 2555) โดยผู้ลงทุนจะถือครองสัญญาได้สูงสุดไม่เกิน 5,000 สัญญา ทั้งนี้ การซื้อขายสัญญา USD Futures จะไม่มีการส่งมอบเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ แต่จะใช้วิธีชำระกำไรขาดทุนเป็นเงินสดตามอัตราแลกเปลี่ยน ที่เปลี่ยนแปลงไป

เก็งกำไรผ่านสัญญา USD FUTURES

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรผ่านสัญญา USD Futures สามารถทำได้ไม่ยาก โดยใช้การคาดการณ์แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หากสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์-สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้น นักลงทุนควรซื้อสัญญา USD FUTURES แต่หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง นักลงทุนควรขายสัญญา USD Futures โดยปัจจัยที่มีผลกระทบกับค่าเงินมีหลายปัจจัยได้แก่

การไหลเข้าออกของเงินลงทุนระยะสั้น

ปัจจุบันเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของไทยมีผลกับค่าเงินบาทในระยะสั้นเป็นอย่างมาก โดยการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างประเทศจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง) ดังนั้นหากนักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อหุ้น หรือตราสารหนี้ในตลาดของไทยเป็นเงินจำนวนมาก นักลงทุนสามารถขายสัญญา USD Futures เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีโอกาสอ่อนค่าลง

 
อัตราดอกเบี้ย

หากอัตราดอกเบี้ยของไทยมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น จะจูงใจให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินดอลลาร์-สหรัฐฯ อ่อนค่าลง) ในอนาคต ดังนั้นนักลงทุนควรติดตามภาวะ และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยอย่างสม่ำเสมอ

ดุลการค้าระหว่างประเทศ

มูลค่าการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยมีผลกับค่าเงินบาทด้วยเช่นกัน หากมูลค่าส่งออกน้อยกว่ามูลค่านำเข้าอย่างต่อเนื่อง หรือดุลการค้าระหว่างประเทศเป็นลบ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า

ปัจจัยอื่นๆ

ภาวะเศรษฐกิจ การซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง เป็นต้น

รู้จักกับสัญญา USD FUTURES

สำหรับผู้ส่งออกหรือนำเข้าที่ต้องมีการทำธุรกรรมกับคู่ค้าต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลกระทบกับกำไรของผู้ประกอบการได้ หากผู้สามารถทราบอัตราแลกเปลี่ยนที่จะได้รับในอนาคต จะช่วยให้ผู้ประกอบการบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้น ซึ่งสัญญา USD Futures จัดเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

 
 
 
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น (ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง) ผู้ส่งออกที่รับเงินค่าขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้รับรายได้ในรูปเงินบาทลดลง หากผู้ส่งออกขายสินค้าเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจะได้รับชำระเงินในอีก 1 เดือนข้างหน้า ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ส่งออกจะได้รับเงิน 300,000 บาท แต่ในกรณีที่ค่าเงินบาทแข็ง-ค่าขึ้น โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้ส่งออกจะได้รับเงินน้อยลงเป็น 290,000 บาท ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เงินค่าขายสินค้าที่จะได้รับลดน้อยลงจากที่คาด เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท การขายสัญญา USD Futures ที่อัตราแลกเปลี่ยนกำหนดไว้ เช่น 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จะเสมือนเป็นการล็อคอัตราแลกเปลี่ยนที่จะได้รับในอนาคต โดยไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตขณะที่ได้รับเงินค่าสินค้าจะเป็นเท่าไร ผู้ส่งออกจะเสมือนแลกเงินได้ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกัน ผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รายจ่ายค่าสินค้าในรูปเงินบาทจะเพิ่มขึ้น ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง (ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น) ยกตัวอย่างเช่น หากผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินในอีก 1 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายเงิน 300,000 บาท แต่ในกรณีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเป็น 310,000 บาท ดังนั้นเพื่อป้องกันความผันผวนดังกล่าว ผู้นำเข้าสามารถซื้อสัญญา USD- Futures ที่อัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตขณะที่ชำระค่าสินค้าจะเป็นเท่าไร ผู้นำเข้าจะเสมือนแลกเงินได้ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
สัญญา USD FUTURES จึงนับเป็นเครื่องมือทางการเงินอีกประเภทหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยให้ผู้นำเข้าและส่งออก สามารถใช้สัญญา USD Futures ในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้ อย่างไรก็ตาม สัญญา USD Futures เป็นตราสารอนุพันธ์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูง แม้ใช้เงินลงทุนน้อย แต่หากอัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับที่คาดการณ์ไว้ ผู้ถือสัญญาอาจถูกเรียกให้เพิ่มเงินหลักประกันได้ ดังนั้นจึงควรติดตามสถานะของสัญญา USD Futures ที่ถือครองอย่างใกล้ชิด

AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY